วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556


บทเรียนโปรแกรม

     บทเรียนโปรแกรมหมายถึง การจัดระบบการเรียนการสอนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนประกอบ
กิจกรรมการเรียนด้วยตนเองตามเนื้อหา ซึ่งจัดไว้เป็นขั้นตอนเล็ก ๆ ผู้เรียนมีโอกาสประเมินผลการเรียนรู้ด้วยตนเอง
 ด้วยการดูจากผลสะท้อนกลับอยู่เสมอ และบางครั้งก็อาจจะได้รับความรู้เพิ่มเติมในเนื้อหาที่นักเรียน
ยังมีความรู้ไม่ดีพอ ผู้เรียนจะเลือกเรียนได้ตาม ความสนใจ และก้าวไปตามความสามารถของแต่ละคน
 (รศ.ดร.ชัยยงค์ พรหมวงศ์)

     บทเรียนโปรแกรม เป็นการจัดระบบการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนตามความสามารถของตนเอง
อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ผลิตบทเรียนโปรแกรมอาจจะสร้างออกมาในลักษณะของเครื่องมือที่เรียกว่า
 เครื่องช่วยสอน หรือในลักษณะของตำรา หนังสือ หรือแบบเรียน ก็เรียกว่า แบบเรียนโปรแกรม 
หรืออาจจะสร้างในลักษณะอื่น ๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการใช้งาน
บทเรียนโปรแกรม เป็นระบบการเสนอบทเรียนอย่างมีระเบียบ ทีละเล็กทีละน้อยแก่ผู้เรียน บทเรียนแต่ละตอน
 จะมีเรื่องที่จะให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ และจะมีปัญหาถามเกี่ยวกับเรื่องนั้นโดยตรง
 เพื่อให้ผู้เรียนตอบปัญหานั้น จากนั้นก็จะเฉลยคำตอบที่ถูกเกี่ยวกับเรื่องนั้น
      หลักการของบทเรียนโปรแกรม 1. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมอย่างกระฉับกระเฉง (Active Participation) 
การที่นักเรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมยิ่งมาก ยิ่งส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้มากขึ้น
2. ให้ทราบผลการเรียนของตนเองอย่างทันทีทันใด (Immediated Feed Back)
 เป็นการให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนทันที ว่าสิ่งที่ผู้เรียนทำนั้นถูกหรือผิด
3. ประสบการณ์แห่งความสำเร็จ (Sucess Experience) เมื่อเรียนจบแต่ละขั้นตอนที่สำคัญ
 ครูควรให้การเสริมแรง (Reinfocement)แก่ผู้เรียนเพราะจะเป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้สึกภูมิใจ
และต้องการเรียนต่อไป
4. การประมาณทีละน้อย (Gradual Approximation) เป็นการจัดลำดับขั้นตอนของเนื้อหา
 ให้เหมาะสมกับความสามารถของผู้เรียน 
      ลักษณะของบทเรียนโปรแกรม 1. แบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนย่อย ๆ เรียกว่า กรอบ
 แต่ละกรอบมีคำอธิบายและคำถาม ให้ผู้เรียนได้ตอบ และเรียงลำดับเนื้อหาอย่างต่อเนื่อง
 เมื่อผู้เรียนตอบเสร็จในแต่ละกรอบจะทราบผลทันที การเรียนดำเนินไปทีละขั้น มีกรอบสำหรับฝึกหัดทบทวน
 และทดสอบให้ผู้เรียนเข้าใจยิ่งขึ้น
2. การเรียนไม่จำกัดเวลา ผู้เรียนเรียนได้ตามความสามารถของตนเอง นอกจากนี้บทเรียนโปรแกรมจะ
ต้องมีการวางวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจน ระบุการกระทำที่สังเกตได้สามารถวัดผลได้อย่างแม่นยำ 
และก่อนที่จะนำบทเรียนโปรแกรมมาใช้ได้ จะต้องผ่านการทดลองใช้ และแก้ไขปรับปรุงส่วนที่เป็นปัญหา
 จนได้ประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่ได้ตั้งไว้ และลักษณะของบทเรียนโปรแกรมจะค่อย ๆ
 เพิ่มพูนประสบการณ์การเรียนรู้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับที่ผู้สร้างได้กำหนดเอาไว้ 
      ชนิดของบทเรียนโปรแกรม 
1. บทเรียนโปรแกรมแบบเส้นตรง ( Linear Programmed ) ลัีกษณะบทเรียนจะเรียงตามลำดับของกรอบออก
เป็นชั้น ๆ จากง่ายไปหาี่ยาก ให้ผู้เรียนค่อย ๆ เรียนจากสิ่งที่ง่ายไปสู่ที่ยาก จากสิ่งที่รู้แล้วไปสู่สิ่งที่ไม่รู้ 
จากกรอบที่ 1ไปสู่กรอบที่ 2 ที่ 3 ไปเรื่อย ๆ โดยมีข้อแม้ว่า ก่อนที่จะเรียนในกรอบที่ 2 นั้น
ผู้เรียนต้องตอบคำถามในกรอบที่ 1 ให้ถูกต้องเสียก่อน จึงจะเรียนในกรอบที่ 2 ได้
 ในกรอบถัดไปก็เช่นกัน จะข้ามกรอบใดกรอบหนึ่งไม่ได้ เพื่อให้ผู้เรียนเข้าใจในสิ่งแรกที่เป็นพื้นฐานก่อน
 ก้าวไปสู่ความรู้ใหม่
2. บทเรียนโปรแกรมแบบสาขา ( Branching Programmed)บทเรียนจะแตกต่างจากแบบแรก
 คือการเรียนจะไม่ดำเนินตามลำดับ ผู้เรียนอาจย้อนไปมาในหน่วยย่อยต่าง ๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามาร
ถของผู้เรียนเอง
 หากผู้เรียนตอบคำถามไม่ถูกต้อง อาจสั่งให้ผู้เรียนกลับไปเรียนในข้อความย่อย ๆ อื่นเพิ่มเติม
 ในข้อความย่อยนั้นจะมีคำชี้แจงว่าคำตอบของผู้เรียนไม่ถูกต้องนั้นเพราะอะไร
 และมีคำขยายความให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ลักษณะคำถาม นิยมเป็นแบบเลือกตอบซึ่งบทเรียนโปรแกรมแบบสาขา
 เหมาะสำหรับห้องเรียนที่ผู้เรียนมีความสามารถในการรับรู้ หรือประสบการณ์เดิมแตกต่างกัน
 ผู้ที่เรียนเร็วสามารถเรียนโดยใช้เวลาไม่มากนัก และควรมีกิจกรรมเสริมหรือเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
 แต่สำหรับผู้ที่เรียนช้า หรือประสบการณ์เดิมน้อย ต้องเรียนซ่อมเสริมอีกเพื่อให้เรียนรู้ได้ทันกับผู้ที่เรียนเร็ว 
แต่อาจใช้เวลา มากกว่า จะเห็นได้ว่าบทเรียนโปรแกรมสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน
อย่างเป็นขั้นตอน และเป็นระบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้สร้างบทเรียน ต้องฝึกฝน ค้นคว้า
 และหารูปแบบของบทเรียนโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพ และน่าสนใจ ได้มากเพียงใด 
      ข้อจำกัดของบทเรียนโปรแกรม 
1. บทเรียนโปรแกรมเหมาะสำหรับเนื้อหาที่เป็นความจริง หรือความรู้พื้นฐานมากกว่า
เนื้อหาที่ต้องการความคิดเห็นและความคิดริเริ่ม หรือมีความลึกซึ้งมาก ๆ 
2. มีส่วนทำให้ผู้เรียนขาดทักษะในการเขียนหนังสือ เพราะผู้เรียนจะเขียนเฉพาะคำตอบเป็นบางคำเท่านั้น 
3. ผู้เรียนขาดการสังคมติดต่อซึ่งกันและกัน
4. ภาษาที่ใช้อาจเป็นปัญหา สำหรับในบางท้องถิ่น 
5. มีส่วนทำให้เด็กที่เรียนเก่งเบื่อหน่าย โดยเฉพาะบทเรียนโปรแกรมแบบเชิงเส้น 
6. บทเรียนโปรแกรมแบบสาขา เขียนให้ดีค่อนข้างยาก

ชุดการสอน

     ชุดการสอนคือ การนำเอาระบบสื่อประสม (Multi-media) ที่สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาและประสบการณ์
ของแต่ละหน่วย มาช่วยในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 ชุดการสอนนิยมจัดไว้ในกล่อง หรือซองเป็นหมวด ๆ ภายในชุดการสอนประกอบด้วยคู่มือการใช้ชุดการสอน
 สื่อการสอนที่สอดคล้องกับเนื้อหา และประสบการณ์ อาทิเช่น รูปภาพ สไลด์ เทป แผ่นคำบรรยาย ฯลฯ 
ในการสร้างชุดการสอนนี้จะใช้วิธีระบบเป็นหลักสำคัญด้วย จึงทำให้มั่นใจได้ว่าชุดการสอนจะสามารถช่วย
ให้ผู้เรียนได้รับความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้ผู้สอนเกิดความมั่นใจพร้อมที่จะสอนอีกด้วย
      แนวคิดและหลักการของชุดการสอน
1. การประยุกต์ทฤษฎีความแตกต่างระหว่างบุคคล
2. ความพยายามที่จะเปลี่ยนแนวการเรียนการสอน จากการยึดครูเป็นหลักมาเป็นจัดประสบการณ์
ให้ผู้เรียนเรียนเอง เปลี่ยนจากการใช้สื่อเพื่อช่วยครูสอน มาเป็นใช้สื่อการสอนเพื่อช่วยผู้เรียนเรียน
3. ยึดทฤษฎีกระบวนการกลุ่มมาใช้ในการจัดระบบการผลิตสื่อในรูปของชุดการสอน 
ยึดหลักจิตวิทยาการเรียนมาใช้
      ประเภทของชุดการเรียนการสอน
1. ชุดการสอนประกอบคำบรรยาย หรือชุดการสอนสำหรับครู
เป็นชุดการสอนสำหรับใช้สอนผู้เรียนเป็นกลุ่มใหญ่ ภายในกล่องจะประกอบด้วยสื่อการสอนที่
ใช้ประกอบการบรรยาย เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนมากยิ่งขึ้น
 โดยจะแบ่งเนื้อหาตามหัวข้อที่จะบรรยายและประกอบกิจกรรมตามลำดับขั้น ดังนั้น
สื่อที่ใช้ควรเป็นสื่อที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน หรือได้ยินกันอย่างทั่วถึง เช่น แผ่นภาพโปร่งใส สไลด์
 แผนภูมิ แผนภาพ โทรทัศน์ เอกสารประกอบการบรรยายและกิจกรรมกลุ่ม เพื่อให้ผู้เรียน
ได้อภิปรายตามปัญหาและหัวข้อที่ครูกำหนดไว้
2. ชุดการสอนแบบกลุ่มกิจกรรม หรือชุดการสอนที่ใช้กับศูนย์เรียน
เป็นชุดการสอนแบบกิจกรรม ที่สร้างขึ้นโดยอาศัยระบบการผลิตสื่อการสอนตามหน่วยและหัวเรื่อง
 โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ร่วมประกอบกิจกรรมเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ประมาณ 5 - 7 คนในห้องเรียนแบบศูนย์การเรียน
 ชุดการสอนแบบกิจกรรมกลุ่มนี้ ประกอบด้วยชุดย่อย ๆ ตามจำนวนศูนย์ในแต่ละหน่วย ในแต่ละศูนย์จะจัด
สื่อการสอนไว้ในรูปของสื่อประสม อาจเป็นสื่อรายบุคคล หรือสื่อสำหรับกลุ่มผู้เรียนทั้งศูนย์ใช้ร่วมกัน
3. ชุดการสอนแบบรายบุคคลหรือชุดการสอนตามเอกัตภาพหรือชุดการเรียน
เป็นชุดการสอนที่มีการจัดระบบเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองตามลำดับขั้นที่ระบุไว้ 
โดยผู้เรียนสามารถเรียนด้วยตนเองตามความสนใจและตามอัตราการเรียนรู้ของแต่ละคน 
ผู้เรียนสามารถประเมินผลการเรียนด้วยตนเอง ชุดการสอนประเภทนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้า
 หรือศึกษาเนื้อหาเพิ่มเติมด้วยตนเอง หรือผู้เรียนอาจนำชุดการสอนประเภทนี้ไปศึกษาเองที่บ้านได้ 
ซึ่งจะเป็นการส่งเสริม และฝึกฝนให้ผู้เรียนรู้จักศึกษาและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง
      องค์ประกอบของชุดการสอน
1. คู่มือและแบบปฏิบัติ สำหรับครูผู้ใช้ชุดการสอนและผู้เรียนที่ต้องเรียนจากชุดการสอน
2. คำสั่งหรือการมอบหมายงาน เพื่อกำหนดแนวทางของการเรียนให้นักเรียน
3. เนื้อหาสาระ ซึ่งบรรจุอยู่ในรูปของสื่อประสม และกิจกรรมการเรียนการสอนซึ่งกำหนด
ไว้ตามวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม
4. การประเมินผล เป็นการประเมินผลของกระบวนการ และผลของการเรียนรู้ โดยมีขั้นตอนการใช้ดังนี้
1. ขั้นทดสอบก่อนเรียน ควรจะมีการตรวจสอบความรู้พื้นฐานในเรื่องที่จะ เรียนก่อน
2. ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน ในขั้นนี้ผู้สอนควรนำเข้าสู่บทเรียนเพื่อเป็นการเตรียมตัวผู้เรียนก่อนเรียน
3. ขั้นประกอบกิจกรรม ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง เพราะจะช่วยให้ผู้เรียนรู้
แบบ Active Learningซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี แต่คำสั่งที่ให้ผู้เรียนปฏิบัติตามนั้นควรมีความชัดเจนและ
เข้าใจได้ง่าย
4. ขั้นสรุปและทดสอบหลังเรียน เพื่อให้ทราบว่าหลังจากที่ผู้เรียนเรียนแล้วเกิดการเรียนรู้ในเรื่องหรือไม่ 
และ ยังทำให้ทราบความก้าวหน้าทางการเรียนระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียน
      ประโยชน์ของชุดการสอน
1. ส่งเสริมการเรียนแบบรายบุคล
2. ช่วยขจัดปัญหาการขาดแคลนครู
3. ช่วยในการศึกษานอกระบบโรงเรียน
4. ลดภาระและสร้างความมั่นใจให้กับครู
5. เป็นประโยชน์ในการสอนแบบศูนย์การเรียน
6. ช่วยให้สามารถวัดผลได้ตามความมุ่งหมาย
7. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิดเห็น
8. ช่วยให้ผู้เรียนจำนวนมากได้รับความรู้แนวเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ
9. ช่วยฝึกให้ผู้เรียนรู้จักเคารพ นับถือ ความคิดเห็นของผู้อื่น
      คุณค่าของชุดการสอน
1. ช่วยเร้าความสนใจ เนื่องจากผู้เรียนจะประกอบกิจกรรมด้วยตนเอง
 ทำให้ผู้เรียนสนใจต่อการเรียนตลอดเวลา
2. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดี เนื่องจากนักเรียนสามารถเรียนได้ตามความสนใจ
 และตามอัตราการเรียนรู้ของตนเอง
3. ส่งเสริมและฝึกหัดให้ผู้เรียนรู้จักการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และมีความรับผิดชอบตนเองและสังคม
4. ช่วยให้การเรียนเป็นอิสระจากบุคลิกภาพของผู้สอน เนื่องจากผู้สอนจะเปลี่ยนบทบาทจาก
ผู้บรรยายมาเป็นผู้แนะนำ ช่วยเหลือ และใช้ชุดการสอนทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ต่าง ๆ แทนครู
5. แก้ปัญหาเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล เพราะชุดการสอนสามารถช่วยให้ผู้เรียน
ได้เรียนรู้ตามความสามารถ ความถนัด ความสนใจ และตามโอกาสที่เอื้ออำนวยให้แก่ผู้เรียนซึ่งมีความแตกต่างกัน
6. สร้างความพร้อม และความมั่นใจให้แก่ครู เพราะในการผลิตชุดการสอนนั้นได้จัดระบบการใช้สื่อการสอน 
ทั้งการผลิตสื่อการสอน กิจกรรม ตลอดจนข้อแนะนำการใช้สำหรับผู้สอน สามารถนำไปใช้ได้ทันที
7. ส่งเสริมการเรียนแบบต่อเนื่องหรือการศึกษาตลอดชีพ เพราะสามารถนำชุดการสอนไปศึกษา
ด้วยตนเองได้ทุกเวลา และทุกสถานที่
8. ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ เพราะชุดการสอนได้ผลิตขึ้นโดยใช้วิธีระบบและกลุ่ม
ผู้มีความรู้ความสามารถ มีการทดลองใช้จนแน่ใจว่าใช้ได้ผลดี มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์
ที่ตั้งไว้แล้วจึงนำออกใช้
      ขั้นตอนในการผลิตชุดการสอน
1. กำหนดหมวดหมู่เนื้อหาและประสบการณ์
2. กำหนดหน่วยการสอน
3. กำหนดหัวเรื่อง
4. กำหนดความคิดรวบยอดและหลักการ
5. กำหนดวัตถุประสงค์
6. กำหนดกิจกรรมการเรียน
7. กำหนดแบบประเมินผล
8. เลือกและผลิตสื่อการสอน
9. หาประสิทธิภาพชุดการสอน
10. การใช้ชุดการสอน
      ส่วนประกอบและการเขียนคู่มือครู
1. คำนำ
2. ส่วนประกอบของชุดการสอน
3. คำชี้แจงสำหรับผู้สอน
4. สิ่งที่ผู้สอนและผู้เรียนต้องเตรียม
5. บทบาทของผู้สอนและผู้เรียน
6. การจัดห้องเรียน
7. แผนการสอน
8. เนื้อหาสาระของชุดการสอน
9. แบบฝึกหัดปฏิบัติหรือกระดาษตอบคำถาม
10. แบบทดสอบก่อนและหลังเรียน
      หลักในการเขียนแบบฝึกปฏิบัติหรือคู่มือนักเรียน 
1. มีคำชี้แจงในการใช้แบบฝึกปฏิบัติ
2. มีตารางปฏิบัติงานที่ผู้เรียนจะวางแผนไว้เอง
3. ควรมีแผนการสอนโดยสังเขป
4. เตรียมเนื้อหากับกิจกรรมให้ตรงกัน โดยใช้หมายเลขหรือรหัส
5. ออกแบบให้สะดุดตาน่าอ่าน
6. เนื้อหาในแบบฝึกปฏิบัติควรให้ตรงกับเนื้อหา